เหยื่อปลอมแบ่งได้ 3 ลักษณะได้แก่
เหยื่อผิวน้ำ
เหยื่อผิวน้ำ : เหยือจำพวกผิวน้ำได้แก่ POPPER และ เหยื่อปลั๊กผิวน้ำ และเหยื่อจำพวกกบไม้
เหยื่อชนิดนี้เป็นเหยื่อประเภทที่ใช้สร้างแอ็คชั่นบนผิวน้ำด้วยการตีเหยื่อเข้าไปยังจุดที่คิดว่ามีตัวปลาอยู่ แล้วกรอสายลากเหยื่อมาตามผิวน้ำเพื่อให้เกิดการสร้างแอ็คชั่นของเหยื่อบนผิวน้ำ เหยื่อประเภทนี้ใช้ได้ดีกับปลาล่าเหยื่อเช่น ปลากะพง ปลาช่อน ชะโด และกระสูบ การเลือกใช้เหยื่อประเภทนี้จะเลือกขนาดเล็กใหญ่แตกต่างกันไปตามลักษณะของปลาที่เราตก ปลาเล็กใช้เหยื่อตัวเล็ก หากปลาขนาดใหญ่ก็จะใช้เหยื่อที่มีขนาดใหญ่ขึ้นตามขนาดของปลาครับ
เหยื่อผิวน้ำ มักใช้งานในหมายที่มีน้ำโล่งจะทำให้ออกแอ็คชั่นของเหยื่อได้อย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
การแต่งเหยื่อผิวน้ำในบ้านเราที่เห็นกันบ่อยๆ ก็จะเป็นจำพวก เหยื่อกบปลอม หรือ เหยื่อ ปลั๊กผิวน้ำ
เหยื่อทั้ง 2 แบบนี้เราสามารถติดใบพัด เพื่อเพิ่มแรงสั่นสะเทือนเวลาลากเหยื่อบนผิวน้ำ ทำให้ดึงความสนใจจากปลาล่าเหยื่อได้ดีอีกด้วยครับ ซึ่งขนาดของใบพัดขึ้นอยู่กับขนาดของตัวเหยื่อ
วิธีสร้างแอ็คชั่นให้เหยื่อประเภทนี้ คือ หากเป็นจำพวก POPPER เราสามารถลากเหยื่อมา และ กระตุกปลายคันหนักๆ เพื่อให้ปากของเหยื่อ ตีหรือกระทบกับผิวน้ำให้เกิดเสียงดัง
แต่หากใช้เหยื่อจำพวกกบ ที่ไม่ติดใบพัด เราสามารถลากเหยื่อมาตรงๆหรือ ลากมาและกระตุกปลาคันเป็นช่วงๆ เพื่อให้ ปากเหยื่อผลุบๆโผล่ๆบนผิวน้ำ เพื่อเรียกร้องความสนใจของปลานักล่าได้เช่นกันครับ
เหยื่อกลางน้ำ (เหยื่อดำตื้น)
เหยื่อกลางน้ำ : เหยื่อชนิดนี้จะเป็นการเลียนแบบปลาขนาดเล็กซึ่งใช้การสร้างแอ็คชั่นให้มีความคล้ายคลึงกับการว่ายของปลาที่บาดเจ็บหรือใกล้ตาย
ส่วนมากจะเป็นเหยื่อประเภท เหยื่อแชทแลพ เหยื่อปลั๊กมินนาว หรือ เหยื่อไวเบรชั่น
มีลักษณะ เล็ก (หรือที่บ้านเราเรียกว่าเหยือปลากระดี่ ) และ จำพวก เหยื่อสปินเนอร์ ตัวเล็กๆเป็นต้นครับ
วิธีสร้างแอ็คชั่นให้เหยื่อประเภทนี้ คือ ลากมา ช้าสลับกับลากเร็ว และอาจกระตุกปลายคันบ้างสลับกันไปครับ จะให้เหมือนลูกปลาเล็กบาดเจ็บหนักใกล้จะตายแล้วครับเพราะปลาล่าเหยื่อจะเล่นงาน ปลาที่บาดเจ็บหรือใกล้ตายก่อน ดังนั้นจึงจำเป็นที่นักตกปลาจะต้องสร้างแอ็คชั่นให้เหยื่อเหมือนจริง ที่สุด
อย่างที่เคยบอกไปครับ เหยื่อเล็กๆ เหมาะกับปลาที่ไม่ใหญ่มาก ดังนั้น เหยื่อประเภทนี้ จึงใช้ได้ดี กับปลานิล ปลาบู่ ปลาช่อน และ กระสูบ
เหยื่อจมหรือเหยื่อดำลึก
เหยื่อดำลึก หรือ เหยื่อจม: เหยื่อประเภทนี้ บางแบบจะมีลักษณะภายนอกเหมือนกับเหยื่อประเภทดำตื้นแต่มีความสามารถในการดำได้ลึกกว่า สังเกตุได้จากรูปลักษณ์คือ ถ้ามีลิ้น ดำตื้น ลิ้นจะสั้น ถ้าดำลึก ลิ้นจะยาว และเหยื่อประเภทนี้จะเป็นพวก เหยื่อปลั๊กดำลึก , เหยื่อเพนซิลจม (ลักษณะกลมยาวเป็นแท่ง ลักษณะเหมือนแท่งดินสอ) , เหยื่อสปูน เหยื่อลิ้นเหล็กหรือพวกเหยื่อลิ้นใหญ่ๆ เป็นต้นครับ
เหยื่อจมนี้ มักจะมี แอ็คชั่นที่จะแสดงออก ขณะที่เหยื่อค่อยๆจมลงสู่หน้าดิน บางตัวจะมีแอ็คชั่นการจม แบบค่อยๆทิ้งดิ่งลงมาและหมุนควงเหมือนลูกปลาบาดเจ็บ หรือ บางตัวจะเป็นลักษณะการลาก ยิ่งลากเร็วเหยื่อจะยิ่งจมลึกลงเรื่อยๆครับ
วิธีสร้างแอ็คชั่นให้เหยื่อประเภทนี้ จะมี2 แบบครับ คือ หากเป็นพวก เหยื่อสปูน หรือ เหยื่อปลั๊กดำลึก ให้ลากมาตรงๆ ช้าสลับเร็ว หรือ ลากมาที่จังหวะปกติก็ได้ครับ
หากเป็นเหยื่อจมพวก เพนซิลจม เหยื่อพวกนี้มักมีวิธีจมเป็นเอกลักษณ์ โดยทั่วไปเมื่อเหยื่อค่อยๆลงสู่ผิวน้ำด้วยแอ็คชั่นส่วนตัว ตามลักษณะ รูปทรงและตามแบบของแต่ละยี่ห้อแล้ว เราจะกระตุกปลายคันให้เหยื่อ ขึ้นๆลงๆที่หน้าดินซักครู่ และ ก็ค่อยๆลากมา สลับกับการกระตุกคันครับ
เหยื่อประเภทนี้ ก็ใช้ได้ดี กับพวก ปลากะพง และ ปลาชะโด กุเลา ปลากราย เป็นต้นครับ
เราได้รู้จักลักษณะของเหยื่อปลอมทั้ง 3 ลักษณะกันแล้วนะครับคราวนี้มาดูกันครับว่าเหยื่อปลอมจริงๆแล้วที่เราใช้กันส่วนใหญ่มีกี่ประเภท
เหยื่อปลอมที่มีการใช้งานอยู่ทั่วไปสามารถแบ่งออกได้ 8 ประเภท ดังนี้
- เหยื่อจิ๊ก (Jigs)
- เหยื่อสปินเนอร์ (Spinners)
- เหยื่อสปูน (Spoons)
- เหยื่อปลอมประเภท เหยื่อยางต่างๆ (Soft plastic baits)
- เหยื่อไวเบรกชั่นปลั๊ก (Plugs)
- เหยื่อสปินเนอร์เบท หรือ บัซเบท (Spinner baits), (Buzz baits)
- เหยื่อประเภท (POPPER) หรือ เหยื่อปลั๊กผิวน้ำ (Top Water)
- เหยื่อฟิน หรือ เหยื่อฟลาย (Flies)
ซึ่งรายระเอียดรอติดตามได้ในบทความหน้านะครับ